Jun 23, 2012

วิธีดำเนินการวิจัย

                 1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง และอาศัยอยู่ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จำนวนทั้งสิ้น 58,605 คนจาก 10 ตำบล กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง โดยการคำนวณจากสูตรของ Yamane ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% และความคลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่างที่ระดับ 0.05 ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 397 คน
                2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูลของการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาตรวจสอบความถูกต้องตามเนื้อหา แล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความตรงด้านเนื้อหาและความตรงเชิงโครงสร้างของข้อคำถาม นำแบบสอบถามไปหาค่าความเชื่อมั่น โดยนำไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน จำนวน 30 คน แล้วนำมาวิเคราะห์ โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์ เอลฟา (µ–Coefficient) ตามวิธีของครอนบาค (Cronbach) ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.96
                3. การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ติดต่อประสานงานกับผู้นำหมู่บ้าน เพื่อขออนุญาตเก็บข้อมูลและนัดหมายวันเวลาที่จะเข้าเก็บรวบรวมข้อมูล และไปพบกับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของการวิจัยด้วยตนเอง อธิบายชี้แจงวิธีการตอบแบบสอบถามจนเป็นที่เข้าใจตรงกัน แล้วขอความร่วมมือให้ตอบแบบสอบถามตามความเป็นจริง ซึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลจะกระทำ ด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้น ไปจนครบ 397 คน แล้วนำแบบสอบถามที่ตอบแล้วมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ผลการวิจัยต่อไป
                4. การวิเคราะห์ข้อมูล ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยการแจกแจงความถี่ (Frequency) และค่าร้อยละ (Percentage) เสนอข้อมูลเป็นตาราง วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยการหาค่าเฉลี่ย () และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation: S.D.) ทดสอบสมมุติฐานเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น จำแนกตามเพศ โดยการทดสอบค่าทีแบบอิสระ (t-test for Independent Samples) และเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น จำแนกตามอายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One–way Analysis of Variance หรือ One–way ANOVA) และเมื่อพบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จะทำการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ (Multiple Comparison) โดยวิธีการทดสอบของเชฟเฟ่ (Scheffe’s Method) โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05

No comments:

Post a Comment