Jun 23, 2012

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี


Public Participation in Local Development Planning 
of Nong Han District Management Organization, Udon Thani
                สมบัติ  ทัพธานี*

บทคัดย่อ                                    
                การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จำแนกตามเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง และอาศัยอยู่ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยการสุ่มอย่างง่าย ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้ จำนวน 397 คน สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ค่าร้อยละของความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยวิธีของเชฟเฟ่ (Scheffe’s Method)
ผลการวิจัยพบว่า
                          1. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยภาพรวมพบว่าประชาชนมีส่วนร่วม ในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นในระดับปานกลาง เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นอยู่ในระดับปานกลาง จำนวน 2 ด้าน โดยเรียงลำดับของค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม และด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหา ในขณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นอยู่ในระดับน้อยจำนวน 2 ด้าน โดยเรียงลำดับของค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยคือ ด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และด้านการมีส่วนร่วมในการประเมินผล
                          2. ผลการเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
                                2.1 จำแนกตามเพศ โดยรวมพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เมื่อพิจารณาในแต่ละด้านพบว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ทั้ง 4 ด้าน
                                2.2 จำแนกตามช่วงอายุ โดยรวมพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.01 และเมื่อพิจารณา ในแต่ละด้านพบว่าด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหา ด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และด้านการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.01 ส่วนด้านการมีส่วนร่วมในการประเมินผล มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05
                                2.3 จำแนกตามระดับการศึกษา โดยรวมพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เมื่อพิจารณาในแต่ละด้านพบว่า ด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและด้านการมีส่วนร่วมในการประเมินผล มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.01 ส่วนด้านการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05 ในขณะที่ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหา ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นไม่แตกต่างกัน
                                2.4 จำแนกตามอาชีพ โดยรวมพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เมื่อพิจารณา เป็นรายด้านพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.01 ทั้ง 4 ด้าน
                                2.5 จำแนกตามรายได้ โดยรวมพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำ แผนพัฒนาท้องถิ่น มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เมื่อพิจารณา เป็นรายด้านพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ทั้ง 4 ด้าน

คำสำคัญการมีส่วนร่วม,  การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น


 * นักศึกษาหลักสูตร รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น คณะมนุษศาสตรและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  E-mail : Tinkly2554@gmail.com

No comments:

Post a Comment