Jun 23, 2012

การอภิปรายผล

                 จาการศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ผลการศึกษาสามารถนำมาอภิปรายผลได้ดังนี้
                1. ผลการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับ สากล ภู่ขันเงิน (2548) ที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนตำบลหนองใหญ่ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการพัฒนาท้องถิ่นนั้นถึงแม้ประชาชนจะมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดสุดท้ายก็ตาม แต่เป็นเพียงการมีส่วนร่วมตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่สภาพความเป็นจริง การคิด การตัดสินใจ และการติดตามประเมินผลในการพัฒนาท้องถิ่นนั้นมักจะเป็นเรื่องของผู้นำท้องถิ่นและข้าราชการส่วนท้องถิ่นมากกว่า เนื่องจากประชาชนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของตนเองในการเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง ประกอบกับค่านิยมที่เกรงใจ เกรงกลัวผู้นำท้องถิ่นและข้าราชการ จึงกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น ดังนั้น ในการแก้ปัญหาในบางครั้ง จึงไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาการมีส่วนร่วมในการพัฒนาซึ่งพบว่า ประชาชนบางครั้ง เข้ามามีส่วนร่วมในการ พัฒนา เพราะเกิดจากความเกรงใจ หรือการถูกบีบบังคับจากผู้มีอำนาจหรือภาครัฐ  

                2. ผลการเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จำแนกตามเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ พบว่า มีความแตกต่างกันทุกตัวแปร ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานของการวิจัย โดยผู้วิจัยจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญและอภิปรายผลจากข้อค้นพบ ดังนี้               
                          2.1 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล จำแนกตามเพศ พบว่า เพศที่แตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นโดยรวมแตกต่างกัน โดยเพศชายมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเพศหญิง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมที่เปิดโอกาสยอมรับให้เพศชายเป็นผู้นำ และมีบทบาทหน้าที่ทางสังคม พร้อมทั้งเป็นผู้มีอิทธิพลในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับ กิตติม์ บุญชูวิทย์ (2544) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชนในเขตจังหวัดขอนแก่น ผลการศึกษาพบว่า เพศชายและเพศหญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองแตกต่างกัน
                         2.2 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล จำแนกตามอายุ พบว่า ประชาชนที่มีช่วงอายุที่แตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นโดยรวมแตกต่างกัน โดยพบว่า ประชาชนที่มีช่วงอายุ ระหว่าง 41 50 ปี มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประชาชนในกลุ่มอายุอื่นๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะประชาชนที่มีช่วงอายุดังกล่าว เป็นผู้ที่มีความพร้อมในด้านฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคม ภาระส่วนตัวต่างๆ ทั้งการดูแลบุตรหลานน้อยลง จึงส่งผลให้มีความสามารถในการเสียสละเวลาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นมากกว่าประชาชนในกลุ่มอายุอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับ เดชอุดม ขุนทอง (2550) ได้ทำการศึกษาวิจัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาตำบล: กรณีศึกษาตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา พบว่า ปัจจัยด้านอายุมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาตำบล
                         2.3 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล จำแนกตามการศึกษา พบว่า ประชาชนที่มีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นโดยรวมแตกต่างกัน โดยพบว่า ผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประชาชนที่มีการศึกษาในระดับต่างๆ ทุกระดับ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าประชาชนที่มีการศึกษาสูงกว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ และศรัทธาในสายตาของคนในชุมชน ส่งผลให้เกิดความกล้าแสดงออก ตลอดจนการตัดสินใจที่จะแสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนมากกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ บราวน์ (Brown, 1953: 59 อ้างถึงใน วิวัตน์  ภู่คะนองศรี, 2536: 111) ได้ศึกษาพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาสูงมักจะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม อย่างแข็งขันมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า
                         2.4 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล จำแนกตามอาชีพ พบว่า ประชาชนที่ประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นโดยรวม แตกต่างกัน โดยพบว่า ผู้ประกอบอาชีพรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกลุ่มอาชีพอาชีพดังกล่าว มีความเข้าใจและคุ้นเคยกับระเบียบและวิธีปฏิบัติ ทั้งยังมีความน่าเชื่อถือน่าศรัทธา ในสายตาของประชาชน จึงส่งผลให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ซึ่งสอดคล้องกับ สมศักดิ์ น้อยนคร (2551) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบล ในจังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า ประชาชนที่มีอาชีพแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลในจังหวัดอุตรดิตถ์แตกต่างกัน
                         2.5 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล จำแนกตามรายได้ พบว่า ประชาชนที่มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นโดยรวมแตกต่างกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าประชาชนที่มีฐานะ ทางเศรษฐกิจดี มีความพร้อมและต้องการเสียสละเวลามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากกว่าประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า ซึ่งสอดคล้องกับ สมศักดิ์ น้อยนคร (2551) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบล ในจังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า ประชาชนที่มีรายได้ตอเดือนแตกต่างกันมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลในจังหวัดอุตรดิตถ์แตกต่างกัน 

No comments:

Post a Comment